วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2552

จากคุณม่านฟ้า

Comments : ตุ๊กตาไล่ฝน จากคุณ ม่านฟ้า
อ่านรวดเดียวจบตั้งแต่เมื่อคืนพร้อมที่จะฟังความเห็นของดิฉันรึยังคะ แหะๆ ^__^ยาวหน่อยนะคะ แต่อย่างน้อยคิดว่า คงมีเจ้าของงานเขียนคนนึงล่ะ ที่จะอ่านกระทู้นี้จนจบต้องยอมรับว่า ขณะกำลังอ่าน หลายส่วนหลายตอนของปัญหาในชีวิตครอบครัวของไหม ทำให้อดหวนนึกถึงเหตุการณ์ในอดีตของครอบครัวตัวเองไม่ได้ อย่างความรู้สึกของไหมต่อต้นลั่นทม ก็บังเอิญไปพ้องกับต้นดอกคริสต์มาสที่เมื่อก่อน บ้านหลังเก่าเคยปลูกไว้หน้าประตูบ้าน สีสันแดงอมชมพูของมันสวยดี แต่เคยมีแขกของที่บ้านทักครั้งหนึ่งว่า ต้นดอกคริสต์มาสเขาว่าไม่ควรจะเอามาปลูกไว้ในบ้าน เพราะมันจะทำให้บ้านห่าง ตอนนั้นยังเด็กไม่รู้ความหมายของคำนี้ คนทักจึงขยายความว่า จะทำให้บ้านไม่มีใครอยู่ สมาชิกพลัดพราก แตกแยกกันไป ได้ยินอย่างนั้นก็ทำเอาใจแป้ว แต่ไม่ได้คิดว่า ไม่นานหลังจากนั้น บ้านจะห่างจริงๆมาจนถึงทุกวันนี้ ตอนเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้น เคยคิดเหมือนกันว่าทุกอย่างมันอาจจะเป็นเพราะต้นดอกคริสต์มาส ตั้งแต่ออกมาจากบ้านหลังนั้นมาจนถึงวันนี้ก็ไม่เคยกลับไปเหยียบที่นั่นอีกเลยณ ตอนนี้ ถึงจะเป็นสายตาของคนที่โตแล้ว หันกลับไปมองเรื่องราวในอดีตของตัวเอง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การล่มสลายของครอบครัว มีผลอันใหญ่หลวงที่หล่อหลอมความเป็นเราในทุกวันนี้ (ทั้งยังทิ้งหลุมดำในหัวใจที่แม้ขณะนี้ก็ยังขจัดไปไม่ได้)เหมือนอย่างที่มันได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของแรงบันดาลใจให้คุณแต่งหนังสือเรื่องนี้โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับไหม ที่ผลักดันให้เด็กหญิงขาซ้ายพิการอายุสิบห้าต้องเผชิญชะตากรรมต่างๆอย่างเดียวดายและทำการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆด้วยตัวของเธอเอง มีน้ำหนักของความเป็นไปได้และสมจริงอยู่มาก โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่าในความเป็นจริงปัญหาต่างๆมากมายในสังคมและในตัวของมนุษย์เองสามารถสั่งสมเป็นผลิตผลแห่งชะตากรรมตลกร้ายให้กระทบกับชีวิตของใครอื่นได้มากมาย พูดตรงๆก็คือ เชื่อว่ามันโหดร้ายได้มากกว่าในนิยายซะอีก ชอบวิธีการนำเสนอของคุณศักดา ที่ใช้วิธีการเขียนซ่อนปมบางอย่างไว้ในจิตสำนึกของตัวละครหลักที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องอย่างไหม แล้วค่อยๆเปิดเผยถึงรายละเอียดเชิงลึก ขณะเรื่องดำเนินมาถึงครึ่งหลังอย่างเข้มข้น จนทำให้วางไม่ลง เพียงแต่บางช่วงรู้สึกว่า การมาเล่าย้อนความรู้สึกถึงเหตุการณ์ที่เนื้อหาผ่านไปนานแล้วทำให้รู้สึกขาดความต่อเนื่องของอารมณ์ อย่างเช่น เหตุการณ์แย่งแมวกับแจง เพื่อนร่วมชั้น สร้างความเจ็บปวดให้ไหมเป็นอย่างมาก แต่แทนที่จะกระแทกอารมณ์คนอ่านให้รู้สึกเจ็บปวดไปกับไหมถึงขีดสุด พอที่จะให้เชื่อว่าเป็นแรงผลักให้ตัวละครทำอะไรก็ได้ แต่อารมณ์กลับไปไม่ถึง มารับรู้ภายหลังว่าเหตุการณ์มีมากกว่านั้น ทำให้ต้องทบทวนกันอีกรอบ และเป็นการทำความเข้าใจมากกว่าจะมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครด้วย ทำให้รู้สึกเสียดายกับอรรถรสในการเสพย์ตรงนี้ หรือเหตุการณ์เลวร้ายที่ไหมมาเล่าให้แม่ฟังภายหลังก็ขาดแรงผลักอารมณ์ให้ประทุก่อนถึงจุดที่ต้องเล่าอีกส่วนหนึ่งที่รู้สึกเสียดายก็คือ แม้ปัญหาต่างๆและปัจจัยแวดล้อมในชีวิตของไหมจะเป็นเหตุเป็นผลกันอยู่ แต่รายละเอียดที่มาของพฤติกรรมเลวร้ายของคนรอบข้าง ค่อนข้างจะหละหลวมเกินไป อย่างเช่นสาเหตุความร้ายกาจของแจง สาเหตุการละเลยเอาใจใส่ของคุณครูในโรงเรียน(ซึ่งดูจะมีบทบาทน้อยมาก)กับชีวิตของเด็กหญิงพิการคนหนึ่ง ความฉลาดเกินตัวของน้องสาวที่ชื่อแก้ว เช่นการตั้งคำถามกับพี่สาวว่า ตุ๊กตาไล่ฝนสามารถขับไล่น้ำตาเหมือนกับที่ไล่สายฝนได้หรือไม่ ดูจะเกินความคิดของเด็กหญิงอายุสี่ห้าขวบ (กระทั่งความช่างคิดช่างสังเกตของไหมเองก็ตาม เช่นรู้จักเปรียบเทียบเอาความเหงามาเป็นเพื่อน รู้จักคำว่าเดียวดาย ก็ขาดที่มา) จึงทำให้ความร้ายกาจของคนอื่นๆที่ไม่ใช่คนในครอบครัว ดูจะเป็นการกลั่นแกล้งของโชคชะตา หรือเป็นความซวยเสียมากกว่าจะสะท้อนให้เห็นปัญหาซับซ้อนของสังคมที่คนทั่วไปอาจจะมองไม่เห็นแต่นักเขียนหรือกวีสามารถนำเสนอแนวคิดของตนเองผ่านงานวรรณกรรมตรงนี้ได้ หรือจะพูดให้เห็นภาพคือคล้ายกับบรรยากาศ ตัวอิจฉากลั่นแกล้งนางเอกในละครทีวีมากกว่า และเป็นความรู้สึกเดียวกัน ที่ตัวละครลูกอย่างไหมกับแก้ว พูดจา คะ ค่ะ กับคนรอบข้างซึ่งดูจะไม่ใช่วิธีการพูดแบบธรรมชาติกับคนสนิทของเด็กๆที่มีฐานะระดับชนชั้นกลางระดับล่าง จึงทำให้ตัวละครต่างๆลดความน่าเชื่อถือลงไปพอสมควร ยังไงก็ตามทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นของคนอ่านคนหนึ่ง ที่อ่านหนังสือมาเพียงหยิบมือ ขอให้คุณศักดาฟังความเห็นของหลายๆฝ่ายแล้วค่อยเอามาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขผลงานต่อๆไปของคุณให้ดียิ่งๆขึ้น ท้ายนี้ขอแสดงความดีใจกับคุณศักดาด้วยนะคะ ที่ได้ทำความฝันสำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว และขอเป็นกำลังใจให้คุณเขียนงานที่ดีขึ้นไปอีกและพัฒนางานเขียนให้เพิ่มความคับคุณภาพยิ่งขึ้นไปอีกในผลงานชิ้นต่อๆไปอย่างต่อเนื่องค่ะ
Link ที่มา
http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K6425718/K6425718.html ขอบคุณมากครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น